ในอดีต การทำแผนธุรกิจขึ้นมาให้ครอบคลุมในทุกมิติได้นั้น อาจใช้เวลาในการเขียนลงบนกระดาษหนาราว 50-60หน้า ซึ่งการทำความเข้าใจ การมองภาพองค์รวมของธุรกิจได้นั้นต้องใช้เวลามาก อาจตกหล่นในบางมิติของธุรกิจ ยากต่อการสื่อสาร และทำให้การนำแผนธุรกิจไปใช้ปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ทำให้แอช มารียา (Ash Maurya) ได้คิดค้นวิธีการสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ซึ่งจบได้ภายในกระดาษเพียงหน้าเดียว นั่นคือลีน แคนวาส (Lean canvas)โดยเน้นให้แผนธุรกิจนั้น สามารถนำไปใช้ได้จริง ชัดเจน ลดความเสี่ยงจากความผิดพลาด ความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจ โดยจะเน้นให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพนั้น เริ่มต้นจากคำถามว่า “ทำไม”
Lean canvas จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยอาศัย “ข้อมูลหรือดาต้า” ที่เกิดจากการทดลองจากสมมติฐานที่สตาร์ตอัพกำหนดขึ้น ทำให้การนำแผนไปใช้ในเชิงธุรกิจจริงได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่คาดคิดได้ ซึ่งนี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อดีตสตาร์ตอัพอย่าง Facebook หรือ Dropboxเติบโตกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกได้
“การตั้งคำถามและทำการทดลองสมมติฐานเหล่านั้น ทำให้เรามองธุรกิจได้ชัดและกว้างมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจได้” นายแอช มารียา กล่าว
สตาร์ตอัพส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสตาร์ตอัพไม่เข้าใจ “ปัญหา” ในธุรกิจที่ทำจริงๆ ทำให้ธุรกิจที่ทำไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เสียทั้งเวลาและเงินทุน เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และขั้นตอนต่อมา คือ การหาโซลูชันที่เป็นไปได้ เพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่ชอบลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (early adopter) เพื่อเป็นการทดลองตลาดและนำผลตอบรับมาพัฒนาสินค้าและบริการต่อไป
สิ่งสำคัญของ Lean canvas อีกประการคือ การกำหนดดัชนีชี้วัดที่สำคัญ (Key metrics) ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนและประเมินผลได้ง่าย กำหนดเพียงแค่ 1-2 ดัชนีที่ตอบโจทย์หัวใจของธุรกิจ จากยุคดั้งเดิมที่กำหนดดัชนีชี้วัดการประเมินผลไว้อย่างมากมาย แต่ดัชนีเหล่านั้นกลับไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ
“ปัญหาที่สตาร์ตอัพทั่วโลกเผชิญ คือ เมื่อธุรกิจดำเนินไประยะหนึ่งจะเจอทางตันในการทำให้ธุรกิจเติบโต และเมื่อหาทางออกไม่เจอก็จะเกิดความล้มเหลว ซึ่ง Lean canvas นี้ จะเป็นโมเดลที่ทำให้เห็นได้ว่าสตาร์ตอัพจะโตได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้เป็นสตาร์ตอัพที่มีประสิทธิภาพ” นายแอช มารียา กล่าว
แนวคิด Lean Canvas นี้ ไม่จำกัดเพียงแต่สตาร์ตอัพเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ในระดับองค์กรใหญ่ๆ ได้ เพียงขอแค่ผู้ใช้มีความคิดการเป็นผู้ประกอบการในใจ (enterpreneurial thinking) ซึ่งแนวคิดนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง อินเทล ไมโครซอฟท์ ก็มีการนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการร่างแผนธุรกิจ
ปัจจุบัน วงการสตาร์ทอัพมีความตื่นตัวและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มี co-working space มีโปรแกรมสนับสนุนสตาร์ตอัพ (startups house และ incubator programme) จากบริษัทต่างๆ ตลอดจนเทรนด์ Corporate Venture Capital ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีของวงการสตาร์ตอัพไทย ที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการเติบโต
สำหรับประเทศไทย รูปแบบของสตาร์ตอัพยังคงเป็นลักษณะ marketplace เป็นส่วนใหญ่ เน้นทางด้านการพัฒนา solution นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์และบริการส่งไปถึงมือผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายได้ ทั้งนี้ การที่จะทำให้เกิดยูนิคอร์น สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ได้นั้น จำต้องคิดถึง solution ที่แก้ปัญหาของคนทั้งโลก ไม่ใช่เพียงประเทศไทยเท่านั้น
629
Like this:
Like Loading...
Related
Leave a Reply