สามารถ และ สวทช. ประกาศผลให้ทีม “จับจ่าย ฟอร์ สคูล” ได้รับรางวัลสุดยอด SIA ในโครงการ Young Technopreneur 2016

สามารถ และ สวทช. ประกาศผลให้ทีม “จับจ่าย ฟอร์ สคูล” ได้รับรางวัลสุดยอด SIA ในโครงการ Young Technopreneur 2016 ตอบโจทย์การนำแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การเป็นเถ้าแก่น้อยด้านเทคโนโลยีตัวจริง พร้อมประกาศร่วมมือกันจัดโครงการต่อเป็นปีที่ 6 หวังสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศต่อเนื่อง เพิ่มความเข้มข้นทั้งการให้ความรู้ การปรับเพิ่มทุนสนับสนุน และหัวข้อในการประกวด เน้นตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ ยุค Thailand 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์

samart-innovation-award-2016mok_8505

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ปีนี้โครงการ Young Technopreneur หรือ เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2016 ที่กลุ่มบริษัทสามารถ จับมือกับสวทช.จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 ได้ทีมชนะเลิศคว้ารางวัลสุดยอด Samart Innovation Award พร้อมรับเงินรางวัล 200,000 บาท คือ ทีม “จับจ่าย ฟอร์ สคูล” (JabJai For School) เทคโนโลยีที่สร้างบัญชีเงินฝากให้กับนักเรียน โดยใช้ลายนิ้วมือ ในการจับจ่ายในโรงเรียน หรือลงเวลาเรียนต่างๆได้อย่างง่ายดาย และรายงานผลผ่านแอพพลิเคชั่นแบบ Real time ช่วยให้การบริหารจัดการในสถานศึกษาสะดวกสบายขึ้น รองอันดับ 1 ทีม HOPS : Seamless Shopping experience แอพพลิเคชั่นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลการตลาด รองอันดับ 2 คือทีม O Orchid ระบบดูแลและจัดการฟาร์มกล้วยไม้…  ซึ่งทั้ง 3 ทีม ได้รับการพิจารณาจากแผนธุรกิจที่โดดเด่นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ควบคู่กับนวัตกรรมที่ต่างและสร้างมูลค่าได้มากกว่าเป็นสำคัญ”

“สำหรับโครงการ Young Technopreneur ปี 2017 ยังเน้นเจาะไอเดียคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมใหม่ๆและมีแผนธุรกิจชัดเจน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และมอบรางวัล “สุดยอดนักคิด นักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ” หรือรางวัล Samart Innovation Award  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 ซึ่งกลุ่มบริษัทสามารถ นับเป็นองค์กรภาคเอกชนรายเดียวที่สนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์ยาวนานที่สุด ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะ “สร้างบุคลากรคุณภาพ..ความเป็นมืออาชีพ..ส่งเสริมธุรกิจที่ชัดเจนให้เป็นจริง”  ทั้งการร่วมพัฒนาทักษะ ความรู้ด้านธุรกิจและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยตรง  และมุ่งสร้างมูลค่าให้กับผู้ร่วมโครงการทุกปี โดยปีหน้าจะมีการปรับหลักสูตรการอบรมให้เข้มข้นขึ้นทั้งเนื้อหา การลงมือปฏิบัติจริง และการคัดกรองผู้ผ่านเข้ารอบ อีกทั้งทุกผลงานที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 15 ทีม จะได้รับเงินทุนในการพัฒนาผลงานเพิ่มขึ้นจาก 20,000 เป็น 30,000 บาท เพื่อให้ได้ทีมที่มีศักยภาพความพร้อมที่สุด ที่สำคัญเพื่อให้เข้าสู่ยุคของ “การพลิกโฉมธุรกิจไปสู่ดิจิตอล” (Digital Transformation) ประกอบกับเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม  เทคโนโลยี  และความคิดสร้างสรรค์

samart-innovation-award-2016mok_8576-copy

โครงการฯจึงกำหนดให้นำกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านการเกษตร สุขภาพ เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ฯลฯ   มาเป็นหัวข้อประเภทการประกวด เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดนวัตกรรมและธุรกิจด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีในประเทศให้ก้าวไกลสามารถแข่งขันกับประชาคมโลก สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศต่อไป”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ “ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมด้านทักษะความรู้พื้นฐานทางธุรกิจและเทคโนโลยีแล้วกว่า  660 คน เกิดการจัดตั้งธุรกิจจำนวน 30 ราย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นเป็นที่น่ายินดีกับโครงการฯที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของประเทศไทย

samart-innovation-award-2016mok_8539-copy

สำหรับโครงการฯในปีหน้า เรามีการปรับหลักสูตรอบรมให้สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีและหัวข้อการประกวด โดยนำผลที่ได้จากโครงการฯทั้ง 5 รุ่น มาปรับปรุงเนื้อหากิจกรรมให้เหมาะกับนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่มากขึ้น ภายใต้หัวข้อประเภทการประกวด 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่โครงการ Thailand 4.0 ของภาครัฐให้ความสำคัญ   อันได้แก่ 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล (Smart Devices, Robotics & Mechatronics, Smart Logistic, Smart Energy) 4. กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับ อุปกรณ์ต่างๆ  (Digital, Internet of Things ,Fintech, Ecommerce, Education Technology) และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services ,Life style, Tourism)

ทั้งนี้โครงการฯยังคงให้ความสำคัญกับการนำแนวคิดสู่ธุรกิจทำเงินต่อไปซึ่งมั่นใจได้ว่าหากน้องๆมีการเตรียมความพร้อม ทั้งการมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ มีการศึกษาความต้องการตลาด ต่อยอดจนเกิดแนวคิดธุรกิจที่ใช่ บวกกับมีความตั้งใจ โครงการฯพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีให้รวดเร็วขึ้น

samart-innovation-award-2016mok_8525-copy

โครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2017 เปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทร. 02-583-9992 ต่อ 1510 www.nstda.or.th/bic/ หรือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  โทร. 02-502-6522  www.samartsia.com

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*